
การประชุมวิชาการระดับชาติศึกษาศาสตร์วิจัย มหาวิทยาลัยนเรศวร ครั้งที่ 12
“นวัตกรรมสู่อนาคตที่ยั่งยืน: จริยธรรมและความยั่งยืนในการศึกษาแห่งยุคดิจิทัล”
วันที่ 1 – 2 พฤษภาคม 2568 ณ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก
หลักการและเหตุผล
ในยุคปัจจุบัน การวิจัยถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความรู้และพัฒนาความเข้าใจในหลากหลายสาขาวิชา ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ หรือมนุษยศาสตร์ ผลงานวิจัยที่มีคุณภาพไม่เพียงแต่จะช่วยผลักดันความก้าวหน้าในสาขาต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ยังมีส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมและสร้างแนวทางในการพัฒนาที่ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม การทำวิจัยไม่ได้มุ่งหวังเพียงแค่การค้นพบความรู้ใหม่หรือการสร้างนวัตกรรม แต่ยังต้องคำนึงถึงมาตรฐานจริยธรรมที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการรักษาความน่าเชื่อถือของงานวิจัย การคุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพของผู้เข้าร่วมวิจัย ตลอดจนการสร้างประโยชน์ที่แท้จริงและยั่งยืนต่อสังคม การทำวิจัยที่ปราศจากจริยธรรมอาจก่อให้เกิดผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ต่อทั้งผู้วิจัย ผู้เข้าร่วมวิจัย และสังคมในภาพรวม
ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการสื่อสารในยุคดิจิทัล ปัญหาทางจริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำวิจัยมีความซับซ้อนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเกี่ยวกับการเก็บข้อมูลส่วนบุคคล ความเป็นส่วนตัวของผู้เข้าร่วมวิจัย การใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ หรือการแบ่งปันข้อมูลทางวิชาการอย่างเป็นธรรม นอกจากนี้ยังมีประเด็นเกี่ยวกับการเผยแพร่ผลวิจัยอย่างโปร่งใสและไม่บิดเบือน เพื่อให้การวิจัยเป็นไปตามมาตรฐานสากลและสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมอย่างแท้จริง
คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นคณะหนึ่งที่มีการใช้ผลการวิจัยในการกำหนดแนวทางการดำเนินงาน ซึ่งผลการวิจัยนั้นจะต้องประกอบด้วยความถูกต้องทั้งด้านเนื้อหาและจริยธรรมในการดำเนินงาน ดังนั้นคณะจัดได้จัดการประชุมวิชาการระดับชาติศึกษาศาสตร์วิจัย มหาวิทยาลัยนเรศวร ครั้งที่ 12 ประจำปี 2568 ขึ้น ภายใต้หัวข้อ “นวัตกรรมสู่อนาคตที่ยั่งยืน: จริยธรรมและความยั่งยืนในการศึกษาแห่งยุคดิจิทัล” (Innovating for a Sustainable Future: Ethics and Sustainability in Education in the Digital Age)
การประชุมนี้จะเป็นเวทีในการปาฐกถาเกี่ยวกับจริยธรรมในการทำวิจัยและนำเสนอผลงานวิชาการให้แก่นักวิชาการ นักวิจัย นิสิต นักศึกษา บุคลากรทางการศึกษา และผู้สนใจทั่วไป ได้มีโอกาสเผยแพร่องค์ความรู้ที่ได้จากการดำเนินการวิจัยของตนเอง เปิดโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นําองค์ความรู้และนวัตกรรมที่ได้ไปใช้ในการบริหารจัดการศึกษา การจัดการเรียนรู้ การพัฒนาทักษะและศักยภาพของผู้เรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงการนําองค์ความรู้ไปต่อยอดให้ก่อเกิดนวัตกรรมทางการศึกษาที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงในสังคมปัจจุบัน พร้อมทั้งเสริมสร้างความแข็งแกร่งของศาสตร์ทางการศึกษาต่อไป
วัตถุประสงค์
- เพื่อเป็นเวทีนำเสนอผลงานวิจัยและผลงานวิชาการของนักวิชาการ นักวิจัย นิสิต นักศึกษา บุคลากรทางการศึกษา และผู้สนใจทั่วไป
- เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้เพิ่มพูนความรู้ ประสบการณ์ และมีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงทางการวิจัยและนวัตกรรมอย่างผลิกผัน เพื่อการศึกษาที่ดีกว่าในยุคปกติใหม่ร่วมกัน
- เพื่อสนับสนุนให้มีการพัฒนา และการขยายเครือข่ายการทำผลงานวิจัย ตลอดจนสามารถสร้างงานวิจัยและความร่วมมือในระดับที่สูงขึ้นต่อไป
- เพื่อสร้างเครือข่ายนักวิจัยและนักวิชาการภายในประเทศ
เป้าหมาย
นักวิชาการ นักวิจัย นิสิต นักศึกษา บุคลากรทางการศึกษา และผู้สนใจทั่วไป ได้นำเสนอผลงานและเข้าร่วมประชุม
ระยะเวลา
วันที่ 1 – 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
แผนการดำเนินงาน
กิจกรรม | กำหนดเวลา |
---|---|
ลงทะเบียนและส่งบทความฉบับเต็ม | ตั้งแต่บัดนี้ – วันที่ 12 เมษายน 2568 |
ส่งบทความปรับแก้ไขฉบับสมบูรณ์ (Full-paper) | ภายในวันที่ 18 เมษายน 2568 |
ส่งหนังสือตอบรับเข้าร่วมนำเสนอบทความ | วันที่ 23 เมษายน 2568 |
วันประชุมวิชาการ ในรูปแบบ Hybrid | วันที่ 1-2 พฤษภาคม 2568 |
แจ้งผลตอบรับการตีพิมพ์ Proceeding | ภายในวันที่ 19 พฤษภาคม 2568 |
เผยแพร่รายงานสืบเนื่องจากการประชุมวิชาการระดับชาติ (Proceedings) ทางออนไลน์ | ภายในวันที่ 3 มิถุนายน 2568 |
ลักษณะของผลงานและการนำเสนอ
- การนำเสนอแบบการบรรยาย (Oral Presentation) ต้องนำเสนอด้วย Microsoft PowerPoint ใช้เวลาในการนำเสนอเรื่องละ 15 นาที (นำเสนอ 10 นาทีตอบข้อซักถาม 5 นาที)
- การนำเสนอแบบโปสเตอร์ (Poster Presentation) เวลาในการนำเสนอเรื่องละ 15 นาที (นำเสนอ10 นาทีตอบข้อซักถาม 5 นาที)
รูปแบบการจัดทำบทความฉบับเต็ม (Full Paper) สามารถดาวน์โหลดได้ที่ https://www.conference.edu.nu.ac.th/
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
- มีการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการของนักวิชาการ นักวิจัย นิสิต นักศึกษา บุคลากรทางการศึกษา และผู้สนใจทั่วไป จากหน่วยงานต่างๆ
- ผลงานวิจัยและผลงานทางวิชาการในรูปแบบต่างๆ ได้รับการถ่ายทอด และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสามารถนำไปต่อยอดทั้งในเชิงวิชาการ และการนำไปใช้ประโยชน์ต่อชุมชนและสังคม
- เกิดเครือข่ายนักวิจัยในระดับชาติ
การลงทะเบียน
ผู้เข้าร่วม | อัตราค่าลงทะเบียน/คน Onsite | อัตราค่าลงทะเบียน/คน Online |
---|---|---|
นักวิชาการ นักวิจัย บุคลากรทางการศึกษา และบุคคลทั่วไป | 2,000 บาท | 2,000 บาท |
นิสิตคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร | 1,000 บาท | 1,000 บาท |
ผู้เข้าร่วมงาน (Participant) | 500 บาท | ฟรี |
บุคลากรคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร | ฟรี | ฟรี |
หมายเหตุ
- ผลงานที่ได้รับความเห็นชอบจากผู้ทรงคุณวุฒิจะได้นำเสนอในที่ประชุมวิชาการและได้รับการตีพิมพ์ในวารสารสืบเนื่องการประชุมวิชาการ (Proceeding) สำหรับผลงานที่มีคุณภาพดีเด่นจะได้รับการพิจารณาคัดเลือกให้ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Education and Innovation ซึ่งได้รับการรับรองในฐานข้อมูล TCI กลุ่มที่ 2
- กรณีผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาผลงานแล้ว มีมติไม่ตอบรับให้นำเสนอผลงานในการประชุมวิชาการ ผู้จัดงานขอสงวนสิทธิ์ไม่คืนค่าลงทะเบียน เนื่องจากเป็นค่าใช้จ่ายในการพิจารณาผลงาน
- กรณีชำระเงินค่าลงทะเบียนแล้ว ผู้จัดงานจะไม่คืนเงินให้ในทุกกรณีความจำเป็น เนื่องจากเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน
สถาบันเครือข่ายร่วมในการจัดงาน
- คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
- คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
- วิทยาลัยการศึกษา มหาวิทยาลัยพะเยา
- สมาคมเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาแห่งประเทศไทย
- สมาคมวิทยาศาสตร์ศึกษา (ประเทศไทย)
- สมาคมสุขศึกษา พลศึกษา และสันทนาการแห่งประเทศไทย
- สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
- สมาคม IEEE Education Thailand
การชำระค่าลงทะเบียน
ชื่อบัญชี: โครงการการประชุมวิชาการระดับชาติศึกษาศาสตร์วิจัย มหาวิทยาลัยนเรศวร ครั้งที่ 12 ประจำปี 2568
เลขที่บัญชี: 857 0 83457 5
ธนาคารกรุงไทย สาขามหาวิทยาลัยนเรศวร
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
หน่วยวิจัย คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
โทรศัพท์: 0 – 5596 – 2405
E-mail: edunuconference@gmail.com
Website: https://www.conference.edu.nu.ac.th
ผู้ประสานงาน
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชำนาญ ปาณาวงษ์: chamnanyp@nu.ac.th โทรศัพท์: 086 – 713 – 0563
- นางสาวอังคณา แทนออมทอง: aungkanat@nu.ac.th โทรศัพท์: 084 – 621 – 9484